โควิด-19 ฉุดรายได้ ดันหนี้ครัวเรือนพุ่งต่อ

โควิด-19 ฉุดรายได้ ดันหนี้ครัวเรือนพุ่ง

โควิด-19 ฉุดรายได้ ดันหนี้ครัวเรือนพุ่งต่อ

กูรูประสานเสียง 3 ปัจจัย “รายได้ลด สินเชื่อใหม่โต หนี้เก่าเข้าพักชำระ กดดันหนี้ครัวเรือนเพิ่มต่อเนื่อง กสิกรระบุ ไตรมาส 2 ยอดหนี้เร่งตัวขึ้น 4.8% สงกว่าการเร่งตัวของไตรมาสแรก ทีทีบี หนุนมาตรการรวมหนี้ ช่วยลดภาระดอกเบี้ย ค่ายอีไอซีห่วงทั้งหนี้ในและนอกระบบ
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยซบเซาต่อเนื่อง นอกจากสะท้อนจากยอดขายสินค้า บริการ และคนตกงานแล้ว หลายสำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างสะท้อนมุมมองของโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะเลื่อนออกไปอีก 2 ปีข้างหน้า ท่ามกลางโจทย์ท้าทายของรายได้ในตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง 20-30% แถมมีโอกาสที่คนจะตกงานนานขึ้น ออกจากระบบแรงงานสู่การทำงานอิสระมากขึ้น ส่วนทางภาวะหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัย กสิกรไทย จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยไตรมาส 2 จะมียอดคงค้างที่ 14.250 ล้านล้านบาท เติบโตเร่งตัวขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 4.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมียอดคงค้างที่ 14.128 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลจากมีหนี้ของรายย่อยเข้ามาตรการช่วยเหลือหรือปรับโครงสร้าง และมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทำให้ยอดคงค้างหนี้ใหม่ยังโต ขณะที่หนี้เก่าชำระคืนน้อยลง จากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน
สำหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี แนวโน้มย่อลงมาอยู่ที่ไม่ประมาณไม่เกิน 90% ต่อจีดีพี จาก 90.5% ในไตรมาส 1 จากการที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเลข (Nominal GDP) ไตรมาส 2 โต 10.7% ซึ่งสูงกว่าตลาดคาด
“แม้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนจะโตเร่งขึ้น แต่ Nominal GDP โตในอัตราสูงกว่า จึงคาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะย่อลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 90% ของจีดีพี แต่แนวโน้มไตรมาส 3 หนี้ครัวเรือนจะวกกลับมาเพิ่มขึ้นอีก จากโมเมนตัมของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบจากโควิดต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 อย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังเพิ่มขึ้น” นางสาวกาญจนากล่าว
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics กล่าวว่า ทีทีบีคาดการณ์ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจปรับเพิ่มเป็น 93.0% ต่อจีดีพีในสิ้นปี 2564 ซึ่งไตรมาส 2 และ 3 ยังเพิ่มขึ้น เห็นได้จากยอดสินเชื่อส่วนบุคคลยังเติบโต ซึ่งหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหารายได้หด ยังไม่กลับมา ภาระหนี้เดิมไม่ได้ชำระ เพราะมีการพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ แต่ครัวเรือนยังต้องการสภาพคล่อง ฉะนั้นหนี้ยังเพิ่มขึ้นต่อ ขณะที่การจะทำให้ตัวเลขจีดีพีเติบโตกว่าหนี้ครัวเรือนก็เป็นเรื่องยาก
ดังนั้น แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้หรือการรวมหนี้น่า จะทำให้หนี้ไม่ขยายตัวใหญ่ขึ้น แต่ในทางปฎิบัติการหนี้เติบโตในระบบดีกว่าให้คนออกไปโตหนี้นอกระบบ ซึ่งในแง่ของการเพิ่มรายได้ ต้องรอสถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์ ซึ่งต้องใช้เวลา ถ้าเริ่มควบคุมโควิดได้ ไม่กลับมาล็อกดาวน์อีกรอบ จะเห็นการกลับมาของรายได้ ซึ่งต้องประคองไม่ให้กลับมาล็อกดาวน์อีก
“หนี้ครัวเรือนยังเป็นประเด็นต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ หรือรวมหนี้ให้เร็วขึ้น โดยการปรับโครงสร้างหนี้นั้นไม่ใช่ทุกครั้งจะลดยอดหนี้เสมอไป แต่เป็นการลดภาระการผ่อน คือ เป็นการยืดเทอมลดภาระผ่อนให้ลูกหนี้ไปไหวเพื่อรอรายได้กลับมา ซึ่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ต้องอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเปิดประเทศได้” นายนริศกล่าว
ส่วนการรวมหนี้นั้น คนกังวลจะเสียหลักประกัน ถ้าภาครัฐมีกลไกลดความกังวล เช่น ค้ำประกันส่วนเพิ่ม40%เพื่อให้คนและแบงก์สบายใจที่จะทำเพราะการรวมหนี้จะช่วยเหลือได้มากกว่าการลดดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยของหนี้ที่รวมแล้วจะลดไปครึ่งหนึ่ง เช่น เดิมดอกเบี้ยอยู่ที่ 18%ต่อปีอาจจะเหลือแค่ 6-7% ต่อปีและระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้ายังได้พักชำระด้วย
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สัญญาณการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล สะท้อนความเดือดร้อนเรื่องสภาพคล่อง ขณะที่กูเกิลเทรนด์ยังพบว่า มีการค้นหาคำว่า “เงินด่วน” “เงินร้อน” อยู่ในระดับค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิดดังนั้น ประเด็นที่น่ากังวล หนี้ครัวเรือนเมื่อเทียบต่อรายได้ยังมีแนวโน้มสูง เพราะรายได้ลดลง โดยหนี้เพิ่มขึ้นทั้งในระบบและหนี้นอกระบบ
“กังวลว่า ภายหลังจบมาตรการพักหนี้แล้ว งบดุลของภาคครัวเรือน ส่วนหนึ่งอาจจะแย่ลง เพราะยังจำเป็นกู้หนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ” ดร.ยรรยงกล่าว
ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่า หนี้ครัวเรือนซึ่งเป็น 1 ใน 3 แผลเป็นทางเศรษฐกิจ คือ ภาคธุรกิจปิดกิจการ ตลาดแรงงานเปราะบางและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงนั้น มีแนวโน้มจะสูงขึ้นต่อเนื่อง จากไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 90.5% เพราะจีดีพีของครึ่งหลังปีนี้จะติดลบโดยมองว่าสิ้นปีจะเห็นหนี้ครัวเรือนขยับเป็น 92%ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรง
.
 
ติดตามเราได้ที่
E-mail: moneyandwealthplus@gmail.com
Tel: 063-282-3651