7 วิธีใช้จ่าย ประหยัด รัดเข็มขัดสู้เศรษฐกิจตกต่ำยุคโควิด สสส. เผยผลสำรวจเกี่ยวกับ “ความปกติใหม่ทางการเงินในยุคโควิด-19” พบว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ 59% รายได้ลดลง และชวนไปส่องวิธี “ประหยัด” ค่าใช้จ่ายฉบับมนุษย์เงินเดือน เพื่อช่วยรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในยุคโควิด-19
วิกฤติเศรษฐกิจในยุค “โควิด-19” ที่คนทั่วโลกและคนไทยกำลังประสบกันอยู่นี้ ทำเอาหลายครอบครัวขาดรายได้อย่างหนัก กลายเป็นวิกฤติการเงินในครัวเรือนหรือวิกฤติการเงินส่วนบุคคล ตามไปด้วย โดยเฉพาะครอบครัวไทยบางครัวเรือนที่อยู่ในสภาพไม่มั่นคงอยู่แล้ว เมื่อเผชิญวิกฤติโควิด-19 ก็ยิ่งประสบปัญหาการเงินที่ทับถมรุนแรงมากไปอีก รวมถึงมนุษย์เงินเดือนที่จากบ้านเกิดมาเพื่อทำงานในกรุงเทพฯ ก็ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจนี้ไม่ต่างกัน
น่าจะดีกว่าถ้าเราหันมาตั้งรับกับสถานการณ์อย่างมีสติ แล้วเริ่มบริหารจัดการการเงินของตนเองให้รอบคอบกว่าเดิม ไม่เฉพาะแค่การ “ออมเงิน” แต่รวมถึงควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ “ประหยัด” ด้วย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคุณมาเช็คลิสต์วิธี “ประหยัด” ค่าใช้จ่ายฉบับมนุษย์เงินเดือนในเมืองกรุง เพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในยุคโควิด-19 พร้อมส่องผลสำรวจเกี่ยวกับ “ความปกติใหม่ทางการเงินในยุคโควิด-19” ที่น่าสนใจมากทีเดียว
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เคยได้ทำการสำรวจสถานการณ์และความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความปกติใหม่ทางการเงินในยุคโควิด-19” เมื่อวันที่ 15-30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งผลสำรวจพบว่า ประชาชนไทยเกินกว่าครึ่งหนึ่งได้รับความกระทบจากสถานการร์โรคระบาด โดย 59% ระบุว่ามีรายได้ลดลง, 52% มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น, 62% มีเงินออมลดลง แต่ที่น่าห่วงคือ 36% ที่มีหนี้สินเพิ่มขึ้น
เมื่อถามถึงการปรับตัวทางการเงินขณะเผชิญโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ 40% ใช้วิธีลดรายจ่าย ขณะที่ 29% พยายามหารายได้เพิ่ม และมี 13% ที่มีการปรับตัวด้านการ “ออมเงิน” บางคนต้องออมน้อยลง แต่บางครัวเรือนออมมากขึ้น ส่วนอีก 15% พบว่ามีการก่อหนี้เพิ่ม และเมื่อถามว่าหลังจากรัฐบาลคลายล็อคแล้ว มีความพยายามลดรายจ่ายบ้างหรือไม่ พบว่าครัวเรือนไทยจำนวนไม่น้อยมีความพยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ได้แก่
47% พยายามลดรายจ่ายค่าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
36% ลดค่าหวยใต้ดิน มากพอๆ กับ ลดการช็อปสินค้าออนไลน์
30% ลดค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
11% ลดค่าบุหรี่จนถึงตอนนี้ แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 บ้านเราถือว่าควบคุมการระบาดได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังวางใจไม่ได้เพราะการระบาดอาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ และเศรษฐกิจภายในประเทศก็ยังคงย่ำแย่ต่อไปอีกระยะจนกว่าเมืองไทยจะมีวัคซีนและยารักษาโรคโควิดที่เพียงพอ กว่าจะถึงตอนนั้น ช่วงนี้ทุกคนจึงควรหันมากินอยู่อย่าง “ประหยัด” รัดเข็มขัดเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจย่ำแย่ในยุคโควิด-19 เราได้รวบรวมเคล็ดลับการใช้จ่ายสุด “ประหยัด” มาฝากกัน ดังนี้
1. “ประหยัด” ด้วยการทำกับข้าวกินเอง
อย่างที่ทุกคนน่าจะได้ลองทำกันมาบ้างแล้วในช่วง “กักตัว” อยู่บ้านยุคโควิด-19 ก็คือ การลองทำอาหารกินเอง บางคนถึงกับเซอร์ไพรส์ว่าได้ค้นพบความสามารถใหม่ของตัวเองในช่วงกักตัวเลยทีเดียว เพราะสกิลการทำอาหารนี้ ยิ่งทำบ่อยก็ยิ่งเก่งขึ้นเรื่อยๆ นอกจากการได้สกิลใหม่ติดตัวมาแล้ว ข้อดีอีกอย่างคือเป็นการ “ประหยัด” ค่าใช้จ่ายที่ดีมากๆ เพราะของสดและวัตถุดิบที่้ซื้อมาทำกับข้าวแต่ละครั้ง สามารถทำกินได้หลายมื้อ กินได้หลายคน คุ้มค่ากว่าการซื้ออาหารนอกบ้านมากิน รวมถึงการซื้ออาหารเดลิเวอรี่แม้ว่าจะสะดวกสบาย แต่ราคาก็แพงเอาการอยู่ ถ้าต้องสั่งกินทุกวันก็คงไม่ไหว
2. ลดมื้อพิเศษราคาแพง และหัดปลูกผักไว้กินเอง
พูดถึงการทำอาหารกินเองแล้ว อีกอย่างที่จะช่วยให้คุณ “ประหยัด” ได้มากขึ้นไปอีกก็คือ การปลูกผักสวนครัว ที่บ้านหรือที่คอนโด โดยเฉพาะผักที่คนไทยเรามักจะต้องใช้ในการปรุงอาหารบ่อยๆ เช่น ใบกะเพรา พริก โหระพา ผักบุ้ง ผักชี ขึ้นฉ่าย ต้นหอม เป็นต้น เมื่อผักโตพอที่จะตัดมากินได้ ก็จะช่วยทุ่นรายจ่ายในส่วนของค่าอาหารไปได้บ้างเหมือนกัน อีกอย่างคือการลดความถี่การทานอาหารมื้อพิเศษนอกบ้านหรือมื้อใหญ่ๆ ลงไปบ้าง เช่น งดกินบุฟเฟ่ต์ราคาแพง งดกินอาหารต่างชาติในร้านหรูราคาสูง เป็นต้น
3. ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย งดชอปปิงแบรนด์เนม
ในยุคโควิดที่เศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ สาวๆ ที่ชอบชอปปิงเครื่องสำอาง กระเป๋าแบรนด์เนม เสื้อผ้าแบรนด์เนม ฯลฯ หรือหนุ่มๆ ที่ชอบซื้อแผ่นเกมหรือเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่ๆ คงต้องพักรายจ่ายตรงนี้เอาไว้ก่อน แล้วหันมาควบคุมและลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเหล่านี้ลงให้ได้ เพราะตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองและสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ค่อยดีต้อง “ประหยัดเงิน” เอาไว้ก่อนดีที่สุด เผื่อทีเหตุฉุกเฉินจะได้ไม่เจ็บหนัก
4. วางแผนการ “ออมเงิน” ให้รอบคอบ
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำเพื่อให้สามารถ “ประหยัด” ค่าใช้จ่ายได้ตรงตามเป้าหมายมากขึ้น นั่นคือ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย และวางแผนการ “ออมเงิน” ให้รอบคอบ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนต้องหันมาปรับแผนการเงินใหม่ให้ดี แม้ว่าตอนนี้ยังคงมีงานทำอยู่ แต่ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าบริษัทหรือองค์กรที่คุณทำงานอยู่ได้อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในยุคโควิด ผลประกอบการอาจจะตกต่ำลง หากเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นมา อย่าน้อยการ “ออมเงิน” อย่างมีวินัยก็จะช่วยชีวิตคุณยามฉุกเฉินได้
5. ซื้อของ “ลดราคา” แต่ต้องได้คุณภาพ
ยุคโควิดแบบนี้ จะซื้อของอะไรก็ตามต้องคิดทบทวนให้รอบคอบก่อนซื้อ อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าช่วงนี้ให้งดซื้อของฟุ่มเฟือยไปก่อน แต่ถ้าของสิ่งนั้นเป็นของจำเป็นจริงๆ ก็สามารถซื้อได้ แต่มีเคล็ดลับคือต้องซื้อให้คุ้มค่าที่สุด สมัยนี้การชอปปิงออนไลน์เข้ามาตอบโจทย์ผู้คนยุคนี้มาก นอกจากซื้อง่ายและได้รับของอย่างสะดวกสบายแล้ว อีกอย่างคือมันช่วนคุณ “ประหยัด” ได้ด้วย
6. แบ่งเงินใช้แต่ละวัน และงดเครื่องดื่มราคาแพง
เคล็ดลับถัดมาในการ “ประหยัด” ค่าใช้จ่ายก็คือ ลองจำกัดจำนวนเงินสำหรับใช้จ่ายในแต่ละวัน โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนน่าจะทำได้ง่าย เริ่มจากเมื่อได้รับเงินมาแล้วให้แบ่งเป็น 2 ก้อน โดยก้อนแรกนำไปเป็นเงินเก็บ ส่วนอีกก้อนก็นำมาบริหารจัดการออกเป็นส่วนๆ นำไปใช้จ่ายในเรื่องจำเป็นต่างๆ เช่น ค่าที่พัก, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าบริการรายเดือนมือถือ, ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง ฯลฯ โดยในส่วนของค่าอาหารและค่าเดินทางที่ต้องใช้ในแต่ละวัน อาจจะแบ่งและกำหนดจำนวนเงินต่อวันเอาไว้เลย เพื่อเป็นการจำกัดค่าใช้จ่ายให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น
7. Social Distancing “ประหยัด” ด้วยกิจกรรมในบ้าน
กิจกรรมนอกบ้านที่ทำให้คุณสิ้นเปลืองเงินไม่น้อยก็อย่างเช่น การสมัครฟิตเนสรายเดือน/รายปี ราคาหลายพันบาทหรือบางเจ้าก็หลักหมื่นบาท รวมไปถึงการออกไปดูหนังที่โรงหนัง ปาร์ตี้สังสรรค์ในคลับ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้คุณสิ้นเปลืองเงินทั้งนั้น (ลองทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างตรงไปตรงมา อาจจะตกใจกับรายจ่ายของคุณ!)
cr.Photo by Karolina Grabowska from Pexels
Tel: 063-282-3651