สำรวจ “เงินเฟ้อ” แต่ละประเทศ ล่าสุด พุ่งสูงขึ้นมากแค่ไหน ประเทศอะไรเจอปัญหาหนักสุด อะไรคือปัจจัยเสี่ยง พร้อมจับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังอ่วม เจอสารพัดปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อทำท่าจะพุ่งสูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี
สถานการณ์เงินเฟ้อ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลก หลังตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัญหารัสเซีย-ยูเครน ที่นักวิเคราะห์ออกมาฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่าจะยืดเยื้อยาวนาน
ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังพุ่งทะยานอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ล่าสุด “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ออกมาระบุว่า ช่วงนี้เงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 กว่าปี โดยอังกฤษเงินเฟ้ออยู่ที่ 9.1% สหรัฐ 8.6% และเยอรมัน 7.9%
ขณะเดียวกันจากสถิติของประเทศที่เผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงสุดขณะนี้ คือมีเงินเฟ้อตั้งแต่ประมาณ 30% ขึ้นไป เช่น
เลบานอน 211%
เวเนซูเอล่า 167%
ตุรกี 73.5%
อาร์เจนตินา 60.7%
อิหร่าน 39.3%
ศรีลังกา 39.1%
เอธิโอเปีย 37.7%
โดยประเทศที่เงินเฟ้อสูงขนาดนี้ คนลำบากก็คือ ประชาชนที่ต้องรับภาระราคาสินค้าที่เพิ่มสูงตลอดเวลา ต่อให้เศรษฐกิจยังโต แต่เงินได้ของทุกคนก็จะถูกกัดกร่อนจากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น เงินเดือนที่มี พอถึงปลายปี จะซื้อของได้ลดลง โดยเฉพาะเลบานอน จะซื้อของได้ไม่ถึงครึ่งของที่เคยซื้อได้ในช่วงต้นปี นี่คือ ฝันร้ายที่เหล่าธนาคารกลางไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
ขณะที่หลายประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจของเอเชียต่างก็เผชิญปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน อย่างเกาหลีใต้ ข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2565 เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 5.4% ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 14 ปี
เช่นเดียวกับสิงคโปร์ อัตราเงินเฟ้อแตะ 5.6% เพิ่มจากเดือนก่อน 5.4% ขณะที่ญี่ปุ่นเองเงินเฟ้อยังอยู่ที่ในระดับเกิน 2% ล่าสุดเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 2.5%
ส่วนประเทศไทยเองนั้น ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า ขยายตัว 7.10% สูงสุดในรอบ 14 ปี นับจากเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งอยู่เคยขึ้นไปแตะ 9.20%
โดยเป็นผลมาจากราคาพลังงาน สูงขึ้นถึง 37.24% ประกอบกับมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพภาครัฐ สิ้นสุดแล้วหลายโครงการ ทั้งช่วยเหลือค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น 45.43% และก๊าซหุงต้มสูงขึ้น 8%
ส่วนเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2565 ต้องรับมือกับความท้าทายหลักๆ ได้แก่
– เงินเฟ้อพุ่งทะลุ 10% กดดันการบริโภค
– เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหากเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง
– การเมืองไทยขาดเสถียรภาพ ส่งผลให้นักลงทุนชะลอโครงการใหม่
– ปัญหาความขัดแย้งในยุโรปรุนแรงขึ้น หนุนราคาน้ำมันพุ่งสูง
– สหรัฐเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็ว แต่เงินเฟ้อยังสูง เฟดจำต้องขึ้นดอกเบี้ยแม้การว่างงานพุ่ง
– จีนต้องล็อกดาวน์อีกรอบหลังมีการระบาดของโควิดในหลายเมือง ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอหนักกระทบการส่งออกของไทย