ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ระบุเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ 3% หมดหวัง GDP โต 4-5% ตามที่รัฐบาลคาดหวัง ยกเว้นมีการกระตุ้นอย่างรุนแรงหรือการส่งออกเติบโตก้าวกระโดดและต้องมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ห่วงฐานะการคลังที่ทำงบขาดดุลติดต่อกันเกือบ 20 ปี หนี้สาธารณะสูง 65% ของจีดีพี อาจจะกระทบเสถียรภาพการคลัง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยทั้งปีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจน่าจะอยู่ที่ 3% โดยเมื่อมองในภาพรวมเศรษฐกิจไทย แม้จะยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและเริ่มทยอยกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ แต่เป็นการฟื้นตัวในภาพรวม และยังซ่อนความยากลำบากของประชาชนอยู่อีกไม่น้อยที่เดือดร้อนจากรายได้ที่ยังฟื้นกลับมาไม่เต็มที่ ทั้งลูกจ้างนอกภาคเกษตร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม้รายได้อาจจะกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด แต่ยังมี “หลุมรายได้” ที่เกิดจากรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นไปตามกาลเวลา แต่กลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพสูงขึ้น
ทั้งนี้ ธปท.ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส ในช่วงที่เหลือของปี 67 ไว้ดังนี้ ไตรมาส 2 คาดเติบโตใกล้เคียง 2% ไตรมาส 3 คาดเติบโตใกล้เคียง 3% และไตรมาส 4 คาดเติบโตใกล้เคียง 4% ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวได้ 1.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ ส่วนในปี 68 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ราว 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพของไทยในปัจจุบันที่ลดลงจากในอดีต และยากที่จะกลับไปเติบโตได้สูงถึง 4-5% อย่างเช่นในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่านี้ จะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพ มีการลงทุนมากขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย ซึ่งคงไม่ใช่เพียงแค่การใช้มาตรการกระตุ้นแต่เพียงเท่านั้น หากไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการยกระดับประสิทธิภาพแรงงานอย่างจริงจัง ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอยู่ได้ในระดับที่ 3% ไม่สามารถเติบโตได้มากกว่านี้ ทั้งนี้มองว่าการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ยันดอกเบี้ยนโยบายเหมาะสม
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า สำหรับการพิจารณานโยบายดอกเบี้ยนั้นจะต้องชั่งในหลายมิติ รวมถึงการมองไปในระยะข้างหน้า แต่ที่ผ่านมาคนมักสนใจกับตัวเลขปัจจุบัน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น การดำเนินนโยบายจะต้องเป็นเป็นในระยะข้างหน้า หรือ Outlook Dependent เป็นหลัก ขณะเดียวกัน ยังต้องพิจารณาถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อด้วย โดยครึ่งปีแรกปีนี้เงินเฟ้อทั่วไปที่ ธปท.ประเมินไว้คือ 0% และในช่วงครึ่งปีหลังอยู่ที่ 1.1% ส่งผลให้ทั้งปีนี้เงินเฟ้อจะเฉลี่ยที่ประมาณ 0.6%
“โดยกรอบเงินเฟ้อของไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลังได้กำหนดกรอบร่วมกันนั้น เป็นกรอบที่สามารถยืดหยุ่นได้ โดยปัจจัยของการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงินนั้น จะพิจารณาหลายปัจจัย หลายองค์ประกอบ การเติบโตของเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเงินในหลายมิติ ไม่ได้มีอะไรที่เป็นสูตรตายตัวว่าเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบ ต้องลดดอกเบี้ย หากพิจารณาจากประเทศอื่นๆ ที่มีกรอบเช่นเดียวกับไทยก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้เป็นอะไรที่จะตายตัวได้ต้องเข้าใจข้อจำกัดของดอกเบี้ยว่าดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหยาบมากและกระทบสารพัดอย่าง แต่โดยลักษณะของดอกเบี้ยเป็นเครื่องมืออันเดียวแต่ต้องตอบหลายโจทย์ ทั้งการเติบโตเศรษฐกิจ ตอบโจทย์เงินเฟ้อ ตอบโจทย์เสถียรภาพการเงิน และต่างประเทศ ดอกเบี้ยพยายามบาลานซ์หลายอย่าง และอาจไม่ได้เหมาะสำหรับในมุมนี้ และการจะชั่งต้องหลายมิติ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยปลายปีนั้น กรอบนโยบายการเงิน กรอบเงินเฟ้อ ธปท.ไม่ได้ดูต่างประเทศ หรือส่วนต่างดอกเบี้ย ดังนั้น จึงไม่ลงหรือขึ้นตาม แต่สิ่งที่ต้องมอง คือ ภาพรวมเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพการเงิน แต่ไทยเป็นประเทศเล็ก และประเทศเปิด ดังนั้นในเรื่องส่งออก นำเข้ามีผลกับไทยเยอะ ดังนั้นต้องดูเสถียรภาพด้านต่างประเทศด้วย การคำนึงถึงว่าเฟดทำอะไร และผลที่มีต่อค่าเงินก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ ธปท.ต้องติดตาม.. อ่านข่าวฉบับเต็ม: https://mgronline.com/stockmarket/detail/9670000057141