การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบลูกหนี้ปี 2564 ในระบบ ทำให้สถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน ต้องออกมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยเปิดให้ลูกหนี้ใช้สิทธิเข้าโปรแกรมการพักชำระหนี้ในเงื่อนไขที่แตกต่างกันของแต่ละธนาคาร
ธนาคารออมสิน คาดการณ์ว่าจะมีลูกหนี้ของธนาคารเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้งในส่วนลูกหนี้ใน 28 จังหวัดพื้นที่สีแดง และลูกหนี้ทั่วประเทศราว 30% ของฐานลูกค้าประมาณ 5 ล้านราย หรือประมาณ 1.5 ล้านราย
นอกจากโครงการพักหนี้แล้ว ออมสินยังออกมาตรการเติมสภาพคล่อง ผ่านโครงการ สินเชื่อเติมพลังฐานราก วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีลูกค้าเข้าร่วม 2-3 แสนราย และ สินเชื่อเอสเอ็มอีี “มีที่มีีเงิน” ที่ขยายวงเงินเพิ่มอีก 5 พันล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีที่ต้องการสภาพคล่องได้หลายพันราย
วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ชี้แจงในรายละเอียดว่า มาตรการแรก จะเข้าไปช่วยลูกค้าเดิมที่อยู่ใน 28 จังหวัดเสี่ยง ประมาณ 1.9 ล้านบัญชี หรือลูกค้าทั่วไป คือ ถ้ามีปัญหาเรื่องการชำระหนี้สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ แต่มาตรการรอบนี้จะพิจารณาเป็นรายๆ แตกต่างจากปีที่แล้วที่ทำทั้งประเทศ โดยพร้อมพักหนี้เงินต้นดอกเบี้ย ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะติดต่อธนาคาร หรือเลือกจะจ่ายอย่างไร ผ่านแอปพลิเคชั่น MyMo
มาตรการที่สอง การให้สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปจะมีสินเชื่อเสริมพลังฐานรากวงเงิน 5 หมื่นบาท ดอกเบี้ย 0.35% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท สามารถยื่นขอได้ถึงสิ้นเดือนมิ.ย.2564 โครงการนี้ ทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่น MyMo เช่นเดียวกัน
มาตรการที่สาม การเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีผ่านโครงการมีที่มีเงิน โดยผู้กู้สามารถเอาทรัพย์สินมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ 70 %ของมูลค่าหลักทรัพย์ มีระยะเวลาชำระคืน 3 ปี โดยไม่ต้องวิเคราะห์รายได้ มีวงเงิน 5 พันล้านบาท
วิทัย บอกว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ยังยืดเยื้อ ธนาคารออมสินและแบงก์รัฐ พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือ โดยออกมาตรการเข้าไปเพิ่มเติม ฐานะและสภาพคล่องแบงก์รัฐไม่มีปัญหา รองรับได้เพียงพอ
“เราแบงก์รัฐไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องและมีฐานะการเงินแข็งแรงที่สามารถช่วยลูกหนี้และประชาชนได้ มาตรการเราออกมาต่อเนื่องเป็นรายเดือน ฉะนั้นถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรุนแรงมากขึ้น เราก็อาจจะขยายโครงการหรือมีมาตรการใหม่ออกมาได้ เช่น มาตรการที่เราออกไปสำหรับ 28 จังหวัด ที่เราออกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีคนแจ้งความประสงค์ผ่านโมบายแบงก์กิ้งมากกว่า 1 แสนรายแล้ว”
ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาธอส.ได้ออกมาตรการตามความหนักเบาของปัญหาไปแล้ว 10 มาตรการ มีลูกค้าเข้าโครงการเป็นมูลหนี้ 5.4 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีลูกค้าส่วนใหญ่พ้นมาตรการหรือแข็งแรงแล้ว แต่ยังมีอีกกลุ่มที่ยังอยู่ในโครงการคิดเป็นมูลหนี้ 1.39 แสนล้านบาทในรอบนี้ธนาคารได้ออกมาตรการสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม คือ เงินงวดที่เคยจ่าย 100% สามารถเลือกจ่ายได้ตามกำลัง คือ 25% 50% และ 75% ของเงินงวด ที่สำคัญคือเงินที่ชำระมานั้นแบ่งตัดทั้งต้นและดอกเบี้ย ทำให้ไม่เป็นภาระต่อเดือน และหนี้เงินต้นก็จะลดลง เริ่มลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคารได้ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.2564 เป็นต้นไป
ธอส.ประเมินลูกค้าที่อยู่ในมาตรการจะมีกลุ่มเปราะบางที่ขยายความช่วยเหลือตลอด คาดว่าจะเข้ามาตรการประมาณ 7 หมื่นกว่าล้านบาท ขณะเดียวกันลูกค้าที่เคยที่เข้ามาตการและพ้นมาตรการแล้ว แต่ยังแข็งแรงไม่พอ ก็คาดจะเข้ามาตรการอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และกลุ่มที่ไม่เคยได้รับผลกระทบก็คาดว่าจะเข้ามาตรการประมาณ 5 หมื่นล้านล้านบาท รวมแล้วประมาณ 2 แสนล้านบาท
กษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ปัจจุบันธ.ก.ส.ดูแลลูกค้ากว่า 6 แสนครัวเรือน เป็นลูกค้าที่กู้เงินและมีการเคลื่อนไหวอยู่ 4.2 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้ มีคนที่เป็นหนี้ก่อนวันที่ 1 เม.ย.2563 จำนวน 3.2 ล้านราย เป็นวงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท ได้พักชำระหนี้ไปแล้ว 1 ปี
ขณะเดียวกันปัจจุบันยังมีลูกหนี้ที่ยังไม่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลืออีกเกือบ 1 ล้านราย ดังนั้นหากได้รับผลกระทบก็สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ ธ.ก.ส.มีมาตรการพักหนี้เงินต้น 1 ปี สำหรับเกษตรกรรายย่อย และ 6 เดือนสำหรับเอสเอ็มอี โดยสามารติดต่อลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นหรือผ่านไลน์ของธนาคาร เมื่อลงทะเบียนแล้ว ธนาคารจะติดต่อภายใน 7 วันทำการ
“ภาระที่เราดูแลเรื่องพักหนี้ 1 ปีเป็นต้นมา เราได้ให้พนักงานไปเยี่ยมเกษตรกร ดูสถานะ เมื่อไปเยี่ยม เราจะรู้ศักยภาพไปต่อได้หรือไม่ ก็จะมีส่วนหนึ่ง ที่ยังมีศัยภาพ และเราก็มีโครงการชำระดีมีคืน เราคืนดอกเบี้ยให้ 20% ไม่เกิน 5 พันบาทต่อราย ถ้าเป็นกลุ่มเกษตรกรจะคืนให้ 10% แต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยเตรียมวงเงินไว้แล้ว 3 พันล้านบาท เริ่มตั้งแต่ต้นปีถึง 31 มี.ค.นี้”
ในส่วนของการเติมสภาพคล่องนั้น ธ.ก.ส.มีโครงการสินเชื่อสำหรับเกษตรกรลูกค้ากลุ่มใหม่อีก 7 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ปลอดต้นและดอกเบี้ยใน 3 เดือนแรก ส่วนสินเชื่อคนรุ่นใหม่ก็เตรียมไว้อีก 6 หมื่นล้านบาท และลูกค้าเก่าอีก 1 แสนล้านบาท
ในส่วนของภาคเกษตรเราตั้งใจจะไปพบทุกคนเพื่อดูแลว่า คนที่มีศักยภาพก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ แต่ถ้าคนที่มีปัญหาก็ไปดูแลเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือกลุ่มที่มีปัญหารุนแรง อาจจะตัดจำหน่ายหนี้ให้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องหนี้เสียตามมา ทั้งนี้หลังจากเปิดโครงการชำระดีมีคืนประมาณเกือบ 1 เดือน ได้รับเสียงตอบรับจากเกษตรกรในกลุ่มที่มีศักยภาพพอสมควร แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ อาจจะทำให้การเข้าถึงเกษตรกรยากขึ้น
“เท่าที่เราเข้าไปสำรวจจะพบว่า เกษตรกรกลุ่มผลิตข้าว เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะราคาต่ำ ทำให้การประกันรายได้ เราจ่ายส่วนต่างค่อนข้างสูงกว่าประมาณการไว้ ซึ่งกระทบจากโควิด-19 คือ ผลิตได้ แต่ขายไม่ออก แต่ถ้าเป็นเกษตรกรปลูกพืชอื่น ถือว่ามีผลผลิตที่ดี ยกเว้น ภาคใต้ที่น้ำท่วม”
วิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ได้ขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ ซึ่งสถาบันการเงินบางแห่งได้มีการขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย จากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่มาก่อนแล้ว ซึ่งธปท. ได้ติดตามและประสานงานให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยเร็ว
ภาพถ่ายโดย Skitterphoto จาก Pexels