สำหรับคนที่มีความพร้อมด้านการวางแผนชีวิตและการเงินอย่างเรา “การทำประกันชีวิต” อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว หลายคนอาจมีกรมธรรม์อยู่แล้วหลายฉบับ หลายคนอาจคิดว่าได้เตรียมไว้พอแล้ว แต่ในความเป็นจริง คำว่า “มีพอแล้ว” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนกรมธรรม์ที่เราทำหรือจำนวนเบี้ยที่เราจ่ายไป แต่อยู่ที่ “ความคุ้มครองที่เหมาะสม” ในแต่ละด้าน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนตามสถานะและโจทย์ของชีวิตที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละคน
ดังนั้น เราจึงควรมาประเมินความคุ้มครองที่เหมาะสมในแต่ละด้านที่เราควรมี เทียบกับความคุ้มครองที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ว่ามีเหมาะสมเพียงพอแล้วหรือไม่ ด้วย “การตรวจสุขภาพทางการเงิน” ตามความคุ้มครอง 6 ด้าน ดังนี้
1. ความคุ้มครองชีวิต
ความคุ้มครองชีวิตควรมีให้ครอบคลุมภาระทางการเงินที่มีอยู่ โดยคำนวณทุนประกันจาก ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวและคนในอุปการะของเราในแต่ละปี + ค่าเล่าเรียนบุตรในอนาคต + ภาระหนี้สินที่มี เช่น ภาระผ่อนบ้านและรถ + เงินให้ธุรกิจปรับตัว (สำหรับกรณีเจ้าของธุรกิจ) หรืออาจจะรวมถึงเงินอีกซักก้อนที่เราต้องการทิ้งไว้ให้คนที่เรารัก ทั้งหมดหักลบกับเงินออม/เงินลงทุนทั้งหมดที่มีอยู่ของเรา เพื่อดูว่า หากวันหนึ่งเราจากไป เราทิ้งทรัพย์สินไว้เพียงพอกับภาระทางการเงินที่เรามีอยู่หรือไม่ แล้วจึงทำประกันชีวิตให้ทุนประกันเพียงพอกับส่วนที่ยังขาดอยู่นั่นเอง
2. ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล
เราควรทำประกันสุขภาพ ที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ให้ครอบคลุมเพียงพอกับค่ารักษาของโรงพยาบาลที่เราและลูกคาดว่าจะใช้บริการ โดยค่ารักษาพยาบาลส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ค่าห้องรวม (ค่าห้อง + ค่าอาหาร + ค่าบริการพยาบาล + ค่าบริการโรงพยาบาล) ค่าผ่าตัดกรณีร้ายแรง ค่ายารักษา ดังนั้นเพื่อความอุ่นใจ จึงควรเลือกประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบที่มีวงเงิน “เหมาจ่าย” ให้เพียงพอกับค่ารักษาที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเอาไว้ก่อน
3. ความคุ้มครองโรคร้ายแรง
เราควรมีวงเงินที่เป็นเงินก้อนเมื่อตรวจพบโรคร้ายแรง ให้เพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลโรคร้ายแรง ตามระดับค่ารักษาของโรงพยาบาลที่คาดว่าจะใช้บริการ รวมไปถึงเพื่อไว้รองรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น เมื่อต้องออกจากโรงพยาบาลมาพักรักษาตัวในระยะเวลาหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยทั่วไป วงเงินส่วนนี้ก็ควรมีไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน ถึง 5 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับระดับค่ารักษาของแต่ละโรงพยาบาล