ทำไมธนาคาร SVB ในอเมริกาจึงล้มได้

จากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล?
.
ทำไมธนาคาร SVB ในอเมริกาถึงล้มได้จากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เป็นคำถามที่หลายคนอาจกำลังสงสัย ผมอยากลองเขียนอีกมุมของการบริหารงบการเงินในมุม ALM (Asset Liability Management) ของธนาคารไว้เพื่อแชร์ประสบการณ์ในสมัยที่ผมทำงานอยู่ในฮ่องกง และเคยอยู่บริษัทที่เป็นเครือของ AIG ในสมัยนั้น ทำให้เห็นภาพติดตาของสถาบันการเงินที่มีสัญญาณค่อยๆ ล้มหายไปตั้งแต่วันแรกจนเป็นโดมิโนทั้งกระดานตามมาในสมัยนั้น
ปกติธนาคารจะได้รับเงินเข้ามาก็ต่อเมื่อมีคนฝากเงินกับธนาคาร ซึ่งธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารก็จะมีตั้งแต่เงินฝากออมทรัพย์ซึ่งถอนได้ทุกเมื่อ กับอีกลักษณะที่เป็นเงินฝากประจำซึ่งมีระยะเวลายาวขึ้นมา และถ้าถอนก่อนกำหนดก็อาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ยเต็มจำนวนเพื่อป้องกันการแห่กันถอนเงิน
เงินฝากของลูกค้าที่ธนาคารได้รับมานั้น จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร ซึ่งธนาคารต้องตั้งเป็นหนี้สินเอาไว้ เพราะมีภาระที่ต้องจ่ายคืนเงินให้ลูกค้าในอนาคต และแน่นอนว่า หน้าที่ของธนาคารไม่ใช่มีแค่จะต้องสำรองเงินไว้จ่ายในยามฉุกเฉินคืนให้ลูกค้าเท่านั้น แต่จะต้องนำเงินที่ได้มานั้นไปลงทุนให้เกิดดอกผลขึ้นมา เพื่อหล่อเลี้ยงธนาคารนั้นให้อยู่รอดไปได้
ในการลงทุนของธนาคารนั้น ธนาคารสามารถทำได้หลายแบบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการปล่อยกู้สินเชื่อ โดยระยะเวลาการปล่อยกู้สินเชื่อก็มีระยะเวลาแตกต่างกันไป ขึ้นกับประเภทของการปล่อยกู้ หรือถ้าธุรกิจของธนาคารนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อปล่อยสินเชื่อ ธนาคารอาจจะเลือกนำเงินที่ได้มานั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่นด้วยก็ได้ ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลก็ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยที่สุด (แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีความเสี่ยงแฝงอยู่อีกหลายอย่าง) แต่ธนาคารก็มีสิทธิ์เลือกลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงอื่นได้เช่นกัน
แต่จุดที่สำคัญที่เห็นในธุรกิจธนาคารก็คือ ‘สินทรัพย์ที่ธนาคารสามารถเลือกลงทุนได้นั้น (ปล่อยกู้สินเชื่อ หรือลงทุนในตราสารหนี้) จะมีธรรมชาติที่มีระยะเวลาของสัญญาที่ยาวกว่าฝั่งหนี้สิน (เงินฝากจากลูกค้าธนาคาร)’ ซึ่งในสถานการณ์ปกตินั้นก็ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร
ซึ่งในเรื่องการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินนั้น ปกติแล้วจะเอาปัจจัยดอกเบี้ยมาคำนวณเป็นปัจจัยหลักด้วย ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงก็แปลว่าเงินที่เราจะได้ในอนาคตก็จะถูกด้อยค่าลง (เพราะเงินตอนนี้จะดูมีความสำคัญกว่าเงินในอนาคต) ทำให้เวลาดอกเบี้ยสูงขึ้น จะมีผลลัพธ์ในการประเมินมูลค่าที่ได้ค่าที่ลดลงอยู่เสมอ และยิ่งเวลาเราประเมินอะไรที่มีระยะยาวมากๆ ตัวปัจจัยของอัตราดอกเบี้ย (ภาษาการเงินเรียกว่า อัตราคิดลด หรือ Discount Rate) ก็จะยิ่งมีผลทวีคูณเข้าไปอีก
นั่นแปลว่าถ้าเราถือสินทรัพย์ที่เป็นตราสารหนี้ระยะเวลา 10 ปี แล้วเวลาอัตราดอกเบี้ยยิ่งสูงเท่าไร มูลค่าของตราสารหนี้ก็จะมีค่าลดลงทวีคูณเท่านั้น
และถ้าเปรียบเทียบตราสารหนี้ระยะเวลา 10 ปี กับตราสารหนี้ระยะเวลา 5 ปีแล้ว เราจะเข้าใจได้ว่าตราสารหนี้ระยะเวลา 10 ปีนั้นจะผันผวนและมีผลกระทบมากกว่าจากปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ย (ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ตราสารหนี้ระยะเวลา 10 ปี จะมีมูลค่าลดลง และมีผลกระทบมากกว่าตราสารหนี้ระยะเวลา 5 ปี)
การที่อัตราดอกเบี้ยถูกปรับตัวขึ้นมาสูงนั้น ทำให้มูลค่าของสินทรัพย์ถูกประเมินมูลค่าใหม่ให้มีค่าลดลงด้วยความรวดเร็ว (เนื่องจากมีระยะเวลาของสัญญาที่ยาวกว่า)
การที่อัตราดอกเบี้ยถูกปรับตัวขึ้นมาสูงนั้น ทำให้มูลค่าของหนี้สินถูกประเมินมูลค่าใหม่ให้มีค่าลดลงเช่นกัน (แต่เนื่องจากเงินฝากนั้นมีระยะเวลาที่สั้นกว่า ผลกระทบทางฝั่งหนี้สินจึงไม่มากนัก)
ผลลัพธ์ที่ได้คือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ตัวของธนาคารก็จะมีผลกระทบที่จะทำให้กำไรสะสมนั้นลดลงมา ซึ่งในทางบัญชีนั้น ถ้าตราสารหนี้มีความตั้งใจจะถือในระยะยาวเพื่อนำไปใช้จ่ายหนี้สิน (เงินฝากที่ลูกค้ามาถอน) ในสถานการณ์ปกติแล้ว เวลามูลค่าของตราสารหนี้แกว่งตัวไปมานั้น จะยังไม่ได้ถือว่าเป็นกำไรหรือขาดทุนในตอนนั้น ยกเว้นแต่จะมีการขายออกมาจริง (ไม่สามารถทำตามวัตถุประสงค์ในตอนแรก ที่ต้องการจะถือในระยะยาวจนครบกำหนดสัญญา) ถึงจะนำส่วนต่างของการแกว่งจากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยมาถือว่าเป็นการขาดทุนในตอนนั้น
ถ้าเราทำความเข้าใจถึงหลักการทั้งหมดดังกล่าวแล้ว ก็นำมาเข้าสู่กรณีศึกษาของธนาคาร SVB ในอเมริกาที่เพิ่งล้มไปนั้น โดยผมสามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ของ SVB ที่แตกต่างจากธนาคารอื่นคือ ตั้งขึ้นมาเพื่อระดมทุนจากลูกค้าที่มีลักษณะธุรกิจประเภท Start-up โดยตอนแรกมีความตั้งใจจัดตั้งขึ้นมาเพื่อกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ SStart-up ด้วยกันเอง ทั้งการรับฝากเงินและการปล่อยสินเชื่อจึงอยู่ในกลุ่ม Start-up ด้วยกันเอง
2. SVB ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นธนาคารเพื่อดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้คนทั่วไป ดังนั้นเงินที่เหลือจากการปล่อยกู้ให้ Start-up ก็จะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยที่สุด แต่ก็ยังเกิดดอกผล นั่นก็คือพันธบัตรรัฐบาล
3. ลูกค้าของ SVB ระดมทุนได้ยากและมีต้นทุนสูงขึ้น และผลที่ตามมาจึงมีความต้องการไปถอนเงินฝากที่ SVB เพื่อใช้ดำเนินการในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ SVB จำเป็นต้องขายตราสารหนี้ในราคาประเมินใหม่ (ที่มีมูลค่าต่ำเนื่องจากการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น)
4. พอคนเริ่มตกใจกับข่าว ก็มีคนแห่ไปถอนเงินกันมากขึ้น (ภาษาการเงินเรียกว่า Bank Run) ทางธนาคารก็จะต้องถูกบังคับขายตราสารหนี้ในขณะนั้น เพื่อนำเงินสดมาจ่ายให้กับคนที่ถอนเงิน และยิ่งทำให้ราคาของตราสารหนี้ที่ขายได้ตกหนักไปอีก และต้องรับรู้ผลขาดทุนกันในตอนนั้นด้วย (ไม่สามารถทำตามวัตถุประสงค์ในตอนแรกที่ต้องการจะถือในระยะยาวจนครบกำหนดสัญญา)
5. เมื่อเกิดภาวะ Bank Run ไม่ว่าจะธนาคารไหนก็จะล้มไม่เป็นท่า ซึ่งในกรณีนี้ SVB ก็ไม่มีข้อยกเว้น
จริงๆ แล้ววิธีป้องกันเรื่องเหล่านี้ ก็มีในวิชาบริหารความเสี่ยงอยู่ทั้งหมดแล้วครับ สามารถตามหาอ่านบทความเกี่ยวกับ Asset Liability Management (ALM) ที่ผมเคยเขียนลงไว้ได้ เพียงแต่หลายคนอาจมองข้ามไป นานๆ เกิดขึ้นทีก็กลับมาให้ความสนใจเรื่อง ALM กัน แต่ในจุดนี้ผมมองว่ายังไม่ถึงขั้นวัวหายล้อมคอกครับ ทุกกิจการสามารถกลับมาให้ความสนใจเรื่อง ALM เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมาอีกได้โดยไม่ยาก แต่ต้องอาศัยความเข้าใจและประสบการณ์เรื่อง ALM ของสถาบันการเงินให้ดี
ปล. Silicon Valley Bank (SVB) เป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของอเมริกา ธนาคารแห่งนี้เน้นให้เงินกู้แก่ Tech Start-up และกองทุน Venture Capital โดยธนาคาร SVB มีเงินฝากถึง $190 billion หรือมีค่าเท่ากับสินทรัพย์ประมาณ 2 เท่าของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทยรวมกัน
บทความโดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน
 
เราคือที่ปรึกษาการเงินให้คำปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยง📈การบริหารจัดการความมั่งคั่ง💵การประกันชีวิต👩🏻‍🦼ประกันชีวิตควบการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก 🏦การวางแผนภาษี การประกันภัย 🚘 ด้วยทีมงานมืออาชีพที่มากด้วยประสบการณ์ที่จะนำพาท่านสู่ความสำเร็จ
 
🏆สนใจร่วมงานกับเราเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพได้ทันที💰:
E: moneyandwealthplus@gmail.com
T: 063-282-3651
 
📺รวมช่องทางสื่อสารของเรา📣