วานนี้ (14 มิ.ย.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน Monetary policy Forum ชี้แจงแนวนโยบายการเงิน และแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อไปต่อนักวิเคราะห์ โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงหลายด้าน ยอมรับเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ที่เพิ่มขึ้น 0.53% ต่ำกว่าที่ ธปท.คาดไว้ ขณะที่นโยบายการเงินในขณะนี้ยังคงผ่อนคลาย ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายยังสามารถขึ้นต่อได้ เพราะยังไม่เข้าสู่ระดับปกติ
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในขณะนี้มูลค่าเศรษฐกิจไทยกลับเข้ามาอยู่ในช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว แต่ยังไม่ได้ฟื้นตัวเข้าสู่ระดับศักยภาพ ซึ่งส่วนนี้เป็นระดับศักยภาพใหม่ที่ลดลง จากศักยภาพเดิมที่เคยทำได้ในช่วงก่อนหน้า เพราะผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ธปท.คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเข้าสู่ศักยภาพเดิมได้ในอนาคต
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อนั้นในระยะปานกลางอาจจะเข้ามาสู่ในระดับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อได้ แต่ในระยะ 1-2 ปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องมายังเงินเฟ้อของไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยที่ ธปท.มองว่า ในปีนี้และปีหน้าจะอยู่ที่ 2% ดังนั้น จะต้องติดตามใกล้ชิด
“อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าว่า สิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใช้ในการพิจารณา คือ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาก็ต่อเมื่อจะมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจ หรือภาวะการเงิน โดยที่ผ่านมาวัฏจักรเศรษฐกิจของไทย และสหรัฐฯมีความแตกต่างกัน ของสหรัฐฯจะฟื้นตัวเร็วและแรงกว่า ส่วนของไทยค่อยๆตามมา ดังนั้นในปีหน้าคิดว่ายังเป็นทิศทางที่ยังแตกต่างกันอยู่ ของไทยคือค่อยฟื้นในปีหน้าและ กนง.ยังเห็นว่าการดำเนินนโยบายในลักษณะปัจจุบันที่จะทำให้ดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับปกติเป็นนโยบายที่เหมาะสม”
ส่วนความกังวลว่าในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ นโยบายการคลังอาจไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่นั้น นายปิติกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ แต่ค่อนข้างชัดเจนว่างบประมาณปี 67 อาจจะล่าช้าไป 1 ไตรมาส และเห็นว่ายังมีเวลาพอที่จะรอดูความชัดเจนของรัฐบาลที่จะเข้ามาก่อน
ชี้ช่วงปลายปีเงินเฟ้ออาจพุ่งอีกรอบ
ด้านนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในเดือนที่ผ่านมานั้นถือเป็นการลดลงระยะสั้นๆ เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟเป็นกรณีิพิเศษ และฐานในปีที่ผ่านมาที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันโลก ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงต่อไปจะทรงตัวในระดับนี้ แต่จากการประเมินราคาอาหารสด ราคาสินค้าที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น และองค์ประกอบอื่นๆของเงินเฟ้อที่ยังมีความหนืด ยังมีโอกาสที่เงินเฟ้อในช่วงปลายปีนี้อาจจะปรับสูงขึ้นได้ ขณะที่ในปี 2567 เงินเฟ้อจะยังทรงตัวในระดับสูง โดยคาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังทรงตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับอดีต และลดลงช้าเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยคาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จะอยู่ที่ 2.0%
ทั้งนี้ มีปัจจัยที่อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่ากรณีฐาน คือ ต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนที่อาจสูงและเร็วกว่าคาด จากต้นทุนที่ผู้ประกอบการยังไม่ได้ส่งผ่าน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจฟื้นตัวได้มากกว่าคาด และราคาอาหารสดที่สูงขึ้น ตามการเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ ซึ่งในขณะนี้ ธปท.ได้ใส่ความเสี่ยงนี้ไว้แล้วว่าจะทำให้เงินเฟ้อสูงเพิ่มขึ้น 0.15% ซึ่งยังต่ำกว่าผลกระทบในช่วงที่ผ่านมาที่ 0.3% จึงต้องติดตามต่อไป นอกจากนี้ ยังต้องติดตามนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ เช่น นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนอกจากนั้น หากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ 10% จากราคาที่ ธปท.ประเมินไว้ อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี ปรับเพิ่มขึ้นได้อีก 0.50% จากระดับที่คาดการณ์ไว้
ดอกเบี้ยไปต่อได้ยังไม่วางใจเงินเฟ้อดิ่ง
ขณะที่นายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุถึงประเด็นสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินว่า การดำเนินนโยบายการเงินมีเป้าหมายหลักในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ ขณะที่เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน โดยในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น จะต้องเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจ และช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว โดยในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงยังไม่ได้เข้าสู่จุดที่ ธปท.ตั้งเป้าหมายไว้
“ต้องเข้าใจว่าเรามาจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และหลายประเทศทั่วโลกยังคงต่อสู้ที่จะเอาเงินเฟ้อให้ลดลง ดังนั้น แม้ว่าเงินเฟ้อของไทยจะลดลงในระยะสั้นๆ แต่ผมว่ายังเร็วเกินไปที่จะประกาศว่าเราชนะเงินเฟ้อแล้ว ในฐานะผู้ดำเนินนโยบาย จะชะล่าใจไม่ได้”
เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.6% และปี 2567 ที่ 3.8% โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแรงส่งที่สำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ภาคการส่งออกฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 1 ปีนี้ มากกว่าที่คาดไว้ในเกือบทุกสัญชาติ โดย ธปท.คาดว่าทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ระดับ 29 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 35.5 ล้านคนในปี 67 ขณะที่ภาคการส่งออกปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ -0.1% ซึ่งจะเห็นการขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และคาดว่าการส่งออกไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ระดับ 3.6% ในปี 67
นายสักกะภพ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่เป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวมีมากกว่าที่คาดไว้ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่มากกว่าที่คาด ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ.
เราคือทีมที่ปรึกษาการเงินให้คำปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยง
การบริหารจัดการความมั่งคั่ง
การประกันชีวิต
ประกันชีวิตควบการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก
การวางแผนภาษี การประกันภัย
ด้วยทีมงานมืออาชีพที่มากด้วยประสบการณ์ที่จะนำพาท่านสู่ความสำเร็จ
E: moneyandwealthplus@gmail.com
T: 063-282-3651
รวมช่องทางสื่อสารของเรา