การศึกษาวิจัยพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนไทย

วิจัยพฤติกรรมทางการเงิน

การศึกษาวิจัยพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนไทย

     สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระยะนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้กลับมาคลุกคลีกับฐานข้อมูลระดับครัวเรือน Townsend Thai Data อีกครั้ง ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่สำรวจ ครัวเรือนเดิมๆ ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง หรือที่เรียกใน ภาษาวิชาสถิติว่า “ฐานข้อมูลแบบตัวอย่างซ้ำ (panel data)” หลังเมื่อไม่กี่ปีก่อน ผู้เขียนเคยจัดทำสรุปข้อมูลนี้ร่วมกับศาสตราจารย์ Robert M. Townsend ผู้ริเริ่มโครงการและได้ใช้ข้อมูลนี้ในการวิเคราะห์ พฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนไทย ทั้งนี้ ผู้เขียนกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมครัวเรือนไทยในแง่มุมพฤติกรรมการใช้จ่ายในสินค้าเฉพาะบางอย่าง (ซึ่งจะนำผลการวิจัยมาเล่าสู่กันฟังแน่นอนครับ) วันนี้จึงขอชวนท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับฐานข้อมูลกันก่อน
Townsend Thai Data เป็นฐานข้อมูลที่เกิดขึ้นจากโครงการวิจัย พัฒนาการเศรษฐกิจไทยที่รู้จักกันในชื่อว่า “Townsend Thai Project” โดย ศาสตราจารย์ Robert M. Townsend แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอ็มไอที สหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับคุณสมบัติ ศกุนตะเสฐียร จัดตั้งศูนย์วิจัยครอบครัวไทย (TFRP) จัดเก็บข้อมูลครัวเรือนในไทย เพื่อใช้ในการประเมินบทบาทของสถาบันที่ไม่เป็นทางการ (informal institutions) เช่น สถาบันครอบครัว เครือข่ายชุมชน ทำความเข้าใจรากฐานของโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งสำรวจภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครัวเรือนและชุมชน แล้วนำมาเผยแพร่ข้อมูลที่นักวิชาการและผู้ดำเนินนโยบายสามารถนำไปใช้ ซึ่งที่สุดแล้วจะมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งระดับภูมิภาคและประเทศ โดยเฉพาะการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่ “ตรงจุด” และ “ได้ประสิทธิผลจริง”
ฐานข้อมูลครัวเรือนไทยแบบตัวอย่างซ้ำนี้มีการสำรวจข้อมูลมาอย่างยาวนานถึงเกือบ 20 ปี ซึ่งนักสถิติและนักเศรษฐศาสตร์คงทราบกันดีว่าจำเป็นต้องใช้ความอุตสาหะทุ่มเทและงบประมาณสูงเพียงใดในการสำรวจครัวเรือนเดิมๆ (ตลอดระยะเวลา 20 ปี โครงการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากหลายสถาบัน อาทิ National Institute of Child Health and Human Development (NICHD) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่ริเริ่มโครงการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รวมไปถึงชื่อคุ้นหูทุกท่านอย่าง Bill & Melinda Gates Foundation) Townsend Thai Data เริ่มสำรวจข้อมูลครั้งแรกตั้งแต่เดือนเมษายน 2540 จนถึงปี 2560 มีขอบข่าย 6 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค ทั้งนี้ โครงการได้เลือกจังหวัดที่มีอย่างน้อยหนึ่งอำเภอรวมอยู่ในการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey หรือ SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกปี เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบและวิเคราะห์ผลการวิจัยกับข้อมูลที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ โดยเก็บข้อมูลจากครัวเรือนเดิม รวมทั้งสิ้น 960 ครัวเรือน
 
     ที่ผ่านมา นักวิจัยหลายท่านทั้งในไทยและต่างประเทศได้ใช้ข้อมูล จาก Townsend Thai Project ทำการศึกษาพฤติกรรมครัวเรือน เศรษฐกิจหมู่บ้าน และผลกระทบของนโยบายต่างๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในแง่ของงานวิจัยด้านการวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของครัวเรือนและเศรษฐกิจหมู่บ้านเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการเงิน สุขภาพครัวเรือนและสาธารณสุข ไปจนถึงนิเวศน์วิทยา
 
     หากมีผู้อ่านท่านใดสนใจต้องการใช้ข้อมูลติดต่อได้ที่สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย http://riped.utcc.ac.th/fedr หรือส่งอีเมลไปที่ data@riped.utcc.ac.th
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด**
“เราพร้อมเปิดประตูมอบโอกาสให้คนยุคใหม่ มาเป็นส่วนหนึ่งของ Money and Wealth Plus ด้วยกันนะคะ อนาคตที่คุณเลือกเองได้”
 
Cr. Photo by Karolina Grabowska from Pexels
 
Tel: 063-282-3651