คาดคงดอกเบี้ยตลอดปีหน้า
ทั้งนี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในอีกหลายไตรมาสข้างหน้า โดยในปี 2567 และปี 2568 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กนง.มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปตลอดทั้งปี 2567 หากเศรษฐกิจไทยในปีหน้าฟื้นตัวต่อเนื่องและขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าปี 2566 รวมถึงหากเงินเฟ้อไทยยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของ กนง.ที่ 1-3% ต่อปี
ด้าน KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทรประเมินว่า จากทิศทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 1.7% เท่านั้น โดยในช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อไทยลดลงอย่างรวดเร็วและเริ่มเติบโตติดลบ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มคงที่ ซึ่งเงินเฟ้อในไทยถือว่าปรับตัวลดลงเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ต่างจากหลายประเทศที่เงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงยาวนาน
ในขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจส่งสัญญาณทิศทางไม่ชัดเจน ทำให้การประเมินเศรษฐกิจเพื่อดำเนินนโยบายทำได้ยากขึ้น โดยคาดว่า ธปท.จะยังคงดอกเบี้ยที่ 2.5% ไปตลอดทั้งปี 2567 ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันมีความเสี่ยงที่นโยบายการเงินไทยจะอยู่ในภาวะที่เริ่มตึงตัวมากเกินไป
ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยสูงขึ้นที่ประมาณ 2.5% มากกว่าสหรัฐ ที่ประมาณ 2% ในกรณีที่นโยบาย digital wallet ไม่เกิดขึ้นได้จริง โอกาสที่ ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีสูงขึ้น
ดอกเบี้ยขึ้นเร็ว-รายได้ตามไม่ทัน
“ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หลังจาก กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อปี โดยที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ทยอยปรับขึ้นมาก่อนหน้านี้ตามดอกเบี้ย กนง.ไปแล้ว หากมองไปอีก 1 ปีข้างหน้า จะเห็นดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับนี้ โดยความท้าทายจะอยู่ที่รายได้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนจะสามารถปรับขึ้นได้ในระดับใด
ลุ้นจีดีพีปีหน้าหนุนรายได้ฟื้น
ทั้งนี้ จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา ภาระทางด้านดอกเบี้ยขึ้นมาค่อนข้างเร็ว จากระดับ 0.50% ต่อปี มาเป็น 2.50% ต่อปี ถือว่าปรับขึ้นมาถึง 5 เท่า ซึ่งสวนทางกับรายได้ที่ไม่ได้ขึ้นถึง 5 เท่า อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินว่า จีดีพีปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 3.2% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2% สะท้อนว่า Norminal GDP จะอยู่ที่ราว 5% หากเป็นไปตามคาดการณ์ ภายใต้ภาระดอกเบี้ยที่คงอยู่ที่ระดับ 2.50% ต่อปี น่าจะทำให้ความตึงตัวของภาคครัวเรือนคลี่คลายลงได้
รายได้เอสเอ็มอียังท้าทาย
“ผลกระทบจากดอกเบี้ยและการฟื้นตัวอาจจะแตกต่างตามแต่ละกลุ่ม โดยค่าเฉลี่ยของประเทศในแง่รายได้ตามทิศทาง Norminal GDP ที่ 5% จะเห็นว่า กลุ่มข้าราชการอาจได้รับอานิสงส์จากนโยบายการปรับเงินเดือน แต่ในแง่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอียังมีความท้าทาย เนื่องจากจะเห็นว่านักท่องเที่ยวยังเข้ามาไม่ได้ตามเป้าหมาย หากดูจากการคาดการณ์ที่จะเข้ามา 35 ล้านคน ยังหายไปอีก 5 ล้านคน เมื่อเทียบช่วงก่อนโควิด-19 ที่อยู่ที่ 40 ล้านคน
ดังนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ที่พึ่งพิงการบริโภคในประเทศ”
ต้นทุนดอกเบี้ยทุบลงทุนปีหน้า
“ดร.พชรพจน์” กล่าวอีกว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายใต้อัตราดอกเบี้ยระดับ 2.50% ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์ ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจะกระทบการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง ซึ่งจะเห็นตัวอย่างในสหรัฐที่มีการเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างเร็ว
ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวแรง แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะชะลอน้อย เนื่องจากสหรัฐมีอุตสาหกรรมเกิดใหม่ แต่หากเทียบกับไทยที่จีดีพีขยายตัวแค่ 2-3% ทำให้เอกชนที่จะลงทุน ต้องพิจารณาถึงรายได้กับภาระต้นทุนด้วย สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ก.ย.-พ.ย. ที่เริ่มเห็นการชะลอตัวลง
ส่วนผลกระทบจากดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจในภาพรวม จะเห็นหลังจากนี้อีก 6-9 เดือน เป็นไปตามหลักการที่การส่งผ่านนโยบายการเงินจะเห็นผลในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น การลงทุนภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบ full effect ในปี 2567 เป็นต้นไป
“มองไปอีก 1 ปีข้างหน้า คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ 2.50% ความท้าทายจะอยู่ที่รายได้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจจะสามารถเติบโตได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยแรงกดดันหรือการตึงตัวของครัวเรือนจากภาระดอกเบี้ยจะลดลง จากก่อนหน้าที่ภาระดอกเบี้ยขึ้นมาเร็วกว่ารายได้ ซึ่งหากทุกอย่าง smooth เศรษฐกิจไปได้ เชื่อว่าการฟื้นตัวจะดีขึ้น แต่กลุ่มที่ยังไม่ไหวอาจจะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด”